Accessibility Tools

สำนักประธานศาลฎีกา
Office of the President of the Supreme Court

ข่าวสารและกิจกรรม
image

สำนักประธานศาลฎีกา

image
ประธานศาลฎีกาเป็นประธานในการประชุมหารือข้อราชการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายการบริหารราชการ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๒image

        เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๖๒ เวลา ๙.๐๐ น. นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกาเป็นประธานการประชุมหารือข้อราชการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายการบริหารราชการศาลยุติธรรม ครั้งที่ ๑/๒๕๖๒ (กลุ่มศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค ๑-๙ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ) ณ ห้องประชุมศาลยุติธรรม อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ โดยมีประธานศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ภาค ๑ – ๙ ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ตลอดจนผู้บริหารในศาลฎีกา สำนักงานศาลยุติธรรม  และสำนักประธานศาลฎีกา เข้าร่วมการประชุม

        ประธานศาลฎีกาแจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงผลการดำเนินงานของศาลฎีกาในปีที่ผ่านมา ณ วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๑ เกี่ยวกับคดีค้างพิจารณาปี ๒๕๖๐ ซึ่งบัดนี้ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาเสร็จสิ้นไปทั้งหมดแล้ว ปัจจุบันคงเหลือเพียงแต่คดีปี ๒๕๖๑ ที่ค้างพิจารณาอีกจำนวน ๖,๒๓๖ เรื่อง ซึ่งกำหนดเป้าหมายให้การพิจารณาคดีดังกล่าวแล้วเสร็จทั้งหมดภายในวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๒ และจะเร่งรัดการพิจารณาคดีที่รับสำนวนใหม่ในปี ๒๕๖๒ ให้เหลือน้อยที่สุด

        หลังจากนั้น ประธานศาลชั้นอุทธรณ์แถลงผลการดำเนินงานตามนโยบายของประธานศาลฎีกา ซึ่งกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการคดีให้แล้วเสร็จภายใน ๖ เดือน โดยศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนใหญ่มีผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก แต่มีเพียงบางศาลที่ยังมีคดีล่าช้าเพราะมีปริมาณคดีเพิ่มมากขึ้นและคดีมีความซับซ้อน

นอกจากนี้ ศาลชั้นอุทธรณ์หลายศาลนำระบบงานสำหรับการติดตามผลคดี เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนสามารถติดตามความคืบหน้าของการพิจารณาคดีได้ ซึ่งประธานศาลฎีกาได้กล่าวชื่นชมแนวทางการพัฒนาดังกล่าวเพราะทำให้ประชาชนรับทราบความคืบหน้าของคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นอุทธรณ์และช่วยป้องกันมิให้มีใครแอบอ้างหลอกลวงประชาชนได้

        ท้ายที่สุดประธานศาลฎีกากล่าวชื่นชมการทำงานของผู้บริหารและบุคลากรทุกคนในศาลชั้นอุทธรณ์ที่ร่วมมือกันทำงานด้วยความตั้งใจ ทำให้ประชาชนได้รับการอำนวยความยุติธรรมที่รวดเร็ว และฝากถึงผู้บริหารศาลว่า ข้อมูลสถิติคดีในบางศาลมีจำนวนคดีที่รับใหม่เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีคดีค้างพิจารณาเพิ่มมากขึ้นด้วย แม้ว่าจะอยู่ในกรอบคดีค้างพิจารณาไม่เกิน ๖ เดือน ก็ขอให้ติดตามอย่างใกล้ชิดและปรับวิธีการบริหารจัดการคดีให้เหมาะสม เพื่อมิให้จำนวนคดีค้างพิจารณาที่เพิ่มมากขึ้นเช่นนี้ส่งผลต่อการทำงานและการรักษากรอบเวลาในการพิจารณาคดีในอนาคต


image เอกสารแนบ